วัตถุประสงค์

บล็อกนี้จัดทำเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสารสนเทศ เกี่ยวกับเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประเภทของสารสนเทศ

ประเภทของสารสนเทศ
          การจำแนกประเภทสารสนเทศที่สถาบันบริการสารสนเทศจัดหาเข้าไว้ในสถาบันและจัดเก็บเพื่อให้บริการมีวิธีจำแนกได้หลายแบบที่เป็นที่นิยม  คือ  การจำแนกประเภท ตามแหล่งสารสนเทศและตามประเภทของสื่อบันทึกสารสนเทศ  (มาลี  ล้ำสกุล.  2551 : 8-10)
     1.  สารสนเทศจำแนกตามแหล่งสารสนเทศ  หมายถึง  การจำแนกสารสนเทศตามการรวบรวมหรือจัดทำสารสนเทศ ซึ่งจำแนกได้ดังนี้
          1.1  สารสนเทศจากแหล่งปฐมภูมิ  (Primary Source)  หมายถึง  สารสนเทศที่ได้จากต้นแหล่งโดยตรง เป็นสารสนเทศทางวิชาการที่เกี่ยวกับความริเริ่ม  ซึ่งผลิตออกมาในลักษณะการเผยแพร่ผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การค้นพบทฤษฎีใหม่ให้นักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยในวิชาชีพร่วมสาขาได้ศึกษา  วิพากษ์วิจารณ์  และอาจใช้เป็นแนวทางเพื่อการศึกษาค้นคว้าและ ทำวิจัยต่อไป
          สารสนเทศจากแหล่งปฐมภูมิ ซึ่งเผยแพร่ในลักษณะของสิ่งพิมพ์  ได้แก่  วารสาร รายงานการวิจัย  รายงานการประชุมและสัมมนาทางวิชาการ สิทธิบัตร เอกสารมาตรฐานต่าง ๆ ต้นฉบับตัวเขียน จดหมายเหตุและวิทยานิพนธ์  และที่เผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์  เช่น  วารสารอิเล็กทรอนิกส์  เป็นต้น
          1.2  สารสนเทศจากแหล่งทุติยภูมิ  (Secondary  Source)  เป็นสารสนเทศที่รวบรวมและเรียบเรียงขึ้นใหม่จากสารสนเทศที่มีการเผยแพร่แล้ว  หรือหมายถึง  จากสารสนเทศปฐมภูมิ ลักษณะการรวบรวมและเรียบเรียง อาจจัดทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง  เช่น  รวบรวม  สรุป  ย่อเรื่อง จัดหมวดหมู่  ทำดรรชนีและสาระสังเขป  ทั้งนี้มีลักษณะการเรียบเรียงเพื่อให้ใช้ข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว เข้าใจได้ง่ายขึ้น  ได้แก่  สื่ออ้างอิงประเภทต่าง ๆ  วารสารที่มีการสรุปย่อและตีความ รวมทั้งหนังสือตำราที่จัดทำโดยรวบรวมเนื้อหาวิชาการสาขาต่าง ๆ  เพื่อการเรียนการสอน
          1.3  สารสนเทศจากแหล่งตติยภูมิ  (Tertiary  Source)  เป็นสารสนเทศที่จัดทำในลักษณะรวบรวมขึ้น  เพื่อใช้ค้นหาสารสนเทศปฐมภูมิและทุติยภูมิ  สารสนเทศจากแหล่งตติยภูมิไม่ให้เนื้อหาสาระเกี่ยวกับความรู้สาขาวิชาการต่าง ๆ  โดยตรง  แต่สามารถใช้ประโยชน์ในการค้นหาสารสนเทศที่ให้ความรู้เฉพาะสาขาวิชาได้  สารสนเทศประเภทนี้  ได้แก่  บรรณานุกรม  นามานุกรม  หนังสือแนะนำวรรณกรรมเฉพาะสาขาวิชา  และบรรณนิทัศน์  
          สารสนเทศประเภทแหล่งตติยภูมิ  มีลักษณะการจัดทำที่คล้ายกับสารสนเทศทุติยภูมิ  ดังนั้น ในตำราบางเล่มจึงจัดสารสนเทศตติยภูมิรวมไว้เป็นประเภททุติยภูมิ และสารสนเทศทั้งสองแบบนี้  ปัจจุบันมีการจัดทำบันทึกข้อมูลไว้ในสื่อคอมพิวเตอร์ออกเผยแพร่อย่างแพร่หลาย  โดยเฉพาะสารานุกรม  พจนานุกรม  นามานุกรม  บรรณานุกรม  ดรรชนีวารสารและสาระสังเขป  ซึ่งจัดเก็บข้อมูลไว้ในซีดี-รอมและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้บริการทางออนไลน์  
                          แผนภูมิที่  1.2  ประเภทของสารสนเทศ
            2.  สารสนเทศจำแนกตามสื่อที่จัดเก็บ   การจำแนกสารสนเทศตามสื่อที่จัดเก็บ หรือ สื่อที่ใช้บันทึกความรู้เป็นการจำแนกตามพัฒนาการของวัตถุที่มนุษย์คิดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อใช้เขียนหรือบันทึกความรู้ ได้แก่
           2.1  กระดาษ  เป็นสื่อบันทึกข้อมูลสารสนเทศที่ใช้ได้ง่าย  และมนุษย์ได้ใช้บันทึกความรู้ ประสบการณ์ จนกระทั่งเป็นความคุ้นเคยของมนุษย์ในการขีดเขียน การพิมพ์เรื่องราวต่าง ๆ ความรู้เพื่อเผยแพร่ในสังคม สิ่งพิมพ์ในลักษณะกระดาษได้แก่  วารสาร  หนังสือ  เอกสารต่าง ๆ แบบฟอร์มที่ใช้กันในสำนักงาน
          2.2  วัสดุย่อส่วน  หรือไมโครฟอร์ม  (Microform)  คือ  สื่อบันทึกสารสนเทศ ที่เป็นแผ่นฟิล์มถ่ายรูป  เอกสารย่อส่วนในขนาดต่าง ๆ  ลงบนฟิล์ม  ประเภทฟิล์มม้วนเรียกว่า ไมโครฟิล์ม  (Microfilm)  และฟิล์มแผ่นเรียกว่า  ไมโครฟิช  (Microfiche)  การถ่ายรูปเนื้อหาเอกสารบนฟิล์มจะเรียงตามลำดับเนื้อหาตามต้นฉบับ  วัสดุย่อส่วนใช้จัดเก็บสำเนาต้นฉบับ ทั้งที่เป็นวารสาร  เอกสารจดหมายเหตุ  เอกสารสำคัญ  วิทยานิพนธ์  เป็นต้น
          2.3  สื่อแม่เหล็ก  เป็นวัสดุสารสังเคราะห์ที่เคลือบด้วยสารแม่เหล็ก สามารถใช้บันทึกและแก้ไขปรับปรุงข้อมูลได้อย่างสะดวก  การใช้สื่อแม่เหล็กเป็นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางและจัดเก็บข้อมูล  ทั้งที่เป็นอะนาล็อก  (Analog) และดิจิทัล  (Digital) สื่อแม่เหล็กที่จัดเก็บข้อมูล อะนาล็อก  เช่น  วีดิทัศน์   และเทปบันทึกเสียง  ซึ่งจัดเก็บข้อมูลทั้งภาพและเสียง  สื่อแม่เหล็กที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัล  เช่น  เทปแม่เหล็ก  ฮาร์ดดิสก์  (Harddisk)  และดิสเก็ต  (Diskette) ในปัจจุบันสื่อเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้บรรจุข้อมูลได้ปริมาณมากและปรับแก้ไขข้อมูลได้สะดวก
           2.4  สื่อแสงหรือออปติก  (Optical  Media)  เป็นสื่อที่บันทึกข้อมูล  และอ่านข้อมูลโดยใช้แสงเลเซอร์  ข้อมูลที่บันทึกลงสื่อแสงเป็นข้อมูลดิจิทัล  สื่อแสงแบ่งประเภทเป็นสื่อที่อ่านได้เพียงอย่างเดียว  เช่น  ซีดี-รอม (Computer Disk-Read Only Memory) และดีวีดี  (Digital Versatile  Disk  =  DVD)  มีความจุมากกว่านิยมใช้บันทึกภาพยนตร์

การใช้สารสนเทศ
                   เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ  จึงจำเป็นต้องรู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับสารสนเทศนั้น  สิ่งที่ควรรู้  ได้แก่  (สุวรรณ  อภัยวงศ์  และคนอื่น ๆ.  2552 : 7)
                     1.  แหล่งที่อยู่ของสารสนเทศ  การที่เราต้องการรู้สารสนเทศอย่างหนึ่ง  เราควรรู้ว่าสารสนเทศนั้นมีอยู่ที่ใด  หรือน่าจะมีอยู่ที่ใด  เช่น  ถ้าอยากรู้เรื่องของการเกษตรที่ยั่งยืนแหล่งของสารสนเทศในกรณีนี้  ได้แก่  เว็บไซต์  หนังสือพิมพ์  ข่าวทางโทรทัศน์  วิทยุ  และแหล่งสารสนเทศบุคคล  เป็นต้น
                     2.  วิธีเข้าถึงแหล่งสารสนเทศ  แหล่งสารสนเทศแต่ละแห่งย่อมมีข้อจำกัดในการเปิดโอกาสให้บุคคลเข้าไปใช้  เช่น  กำหนดประเภทและขอบเขตของผู้ใช้  มีกำหนดวันเวลาบริการ  เป็นต้น  เราจึงควรรู้รายละเอียดเหล่านี้ก่อน  เพื่อป้องกันอุปสรรคและความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้น  ตลอดจนขอบข่ายเนื้อหาสาระของสารสนเทศนั้นคือต้องรู้ว่าสารสนเทศที่มีอยู่นั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ให้รายละเอียดในลักษณะใด เช่น ค้นได้เฉพาะบทคัดย่อ (Abstract) หรือฉบับเต็ม (Full Text)
                     3.  วิธีค้นหาและ/หรือค้นคืน  (Retrieval)  ผู้ใช้จะต้องรู้วิธีการจัดเก็บสารสนเทศของแหล่งสารสนเทศที่จะเข้าใช้  เช่น  รู้วิธีใช้  OPAC  รู้วิธีค้นจากอินเทอร์เน็ต  รู้วิธีการเรียง เลขเรียกหนังสือ  รู้วิธีการใช้ดรรชนี  รู้วิธีค้นหาเรื่องราวจากหนังสือ  วารสาร  ฐานข้อมูล  เป็นต้น  (รายละเอียดในบทที่  5)

หลักการคัดเลือกสารสนเทศ
                     การคัดเลือกพิจารณาข้อมูลมีหลักการดังนี้  (วาณี  ฐาปนวงศ์ศานติ.  2534 : 11)
                     1.  พิจารณาข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ต้องการใช้
                     2.  พิจารณาข้อมูลปฐมภูมิก่อน  ถ้าข้อมูลไม่เพียงพอจึงใช้ข้อมูลทุติยภูมิ
                     3.  ถ้าเป็นข้อเท็จจริง  ต้องเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด  เช่น  ข้อมูลทางสถิติตัวเลข
                     4.  เป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้  พิจารณาจากส่วนประกอบของข้อมูล  หลักฐาน  การอ้างอิงและการใช้ภาษา
                     5.  ควรพิจารณาใช้ข้อมูลที่เปิดเผยได้ สามารถนำมาใช้ได้อย่างสะดวก โดยไม่มีข้อจำกัด
                     6.  ถ้ามีข้อมูลที่ใกล้เคียงกันให้เปรียบเทียบพิจารณาถึงความแตกต่าง  เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อเรื่องที่จัดทำ
                     7.  ใช้วิจารณญาณเลือกข้อมูลที่ไม่มีการลำเอียง  ด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือขนบประเพณี  การคัดเลือกข้อมูลเป็นการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศเบื้องต้นด้วยกระบวนการวิเคราะห์และตัดสินใจ  ใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพโดยวิเคราะห์ลักษณะและประโยชน์จากส่วนประกอบของข้อมูลสารสนเทศแต่ละประเภท  ความน่าเชื่อถือ  นอกจากนั้นยังมีการพิจารณาสารสนเทศที่มีดังแผนภูมิที่  1.3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น