วัตถุประสงค์

บล็อกนี้จัดทำเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสารสนเทศ เกี่ยวกับเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แหล่งสารสนเทศ


            แหล่งสารสนเทศ  (Information  Sources)  หมายถึง  สถานที่ที่มีสารสนเทศสะสมอยู่ในรูปแบบที่หลากหลาย  และเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเข้าใช้สารสนเทศเหล่านั้นได้ตามต้องการ แหล่งสารสนเทศแบ่งได้ดังนี้    
                     1.  แหล่งสารสนเทศที่เป็นสถานที่  ได้แก่  อนุสาวรีย์  โบราณสถาน  อุทยานแห่งชาติ  รวมถึงสถานที่จำลองด้วย  เช่น  ปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่  จังหวัดศรีสะเกษ  อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง  จังหวัดบุรีรัมย์  ปราสาทหินพิมาย  จังหวัดนครราชสีมา  เมืองโบราณ  จังหวัดสมุทรปราการ  เป็นต้น  แหล่งสารสนเทศเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าอย่างยิ่ง  ทั้งยังเป็นแหล่งที่เข้าถึงได้ไม่ยากนัก   
                     2.  แหล่งสารสนเทศที่เป็นบุคคล  ได้แก่  ผู้เชี่ยวชาญ  ผู้รอบรู้ในสาขาต่าง ๆ  ผู้ต้องการสารสนเทศจากผู้เชี่ยวชาญต้องใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญนั้นโดยตรง  เช่น  ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี  ได้รับเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ  สาขาการแพทย์  บานเย็น  รากแก่น  ได้รับยกย่องเป็นราชินีลูกทุ่งหมอลำ  เป็นต้น   
                     3.  แหล่งสารสนเทศที่เป็นเหตุการณ์ หรือสื่อมวลชน  ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะข้อมูลแบบปฐมภูมิ  ได้แก่  กิจกรรมต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้น  เช่น  การประชุมการสัมมนาในเรื่องต่าง ๆ  นิทรรศการหรืองานแสดงต่าง ๆ  รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญ ๆ  เช่น  การปฎิวัติเมื่อวันที่  19  กันยายน  2549  เป็นต้น  รวมทั้งสาระความรู้ในเรื่องต่าง ๆ  ที่เป็นประโยชน์  โดยวิธีการแพร่กระจายเสียง  ภาพ  และตัวอักษร  ผ่านสื่อประเภทโทรทัศน์  วิทยุ  และหนังสือพิมพ์
                     4.  แหล่งข้อมูลอินเทอร์เน็ต  เป็นแหล่งสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก  เพราะหน่วยงานต่าง ๆ  รวมทั้งสถาบันวิจัย  มหาวิทยาลัย  สำนักข่าวสาร  และสมาคมวิชาชีพ  ต่างก็จัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์ออกมาเผยแพร่เป็นจำนวนมาก  จึงทำให้อินเทอร์เน็ตประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศมากมาย
                     5.  แหล่งสารสนเทศที่เป็นสถาบัน   
                          5.1  ห้องสมุด  มีชื่อเรียกแตกต่างกันในภาษาอังกฤษใช้คำว่า  Library  ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า  Libraria  แปลว่า  ที่เก็บหนังสือ  มีรากศัพท์มาจากคำว่า  Liber  แปลว่าหนังสือ  ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศหลายรูปแบบ  ห้องสมุดแต่ละแห่งมีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน  แต่จะมีความแตกต่างกันตามประเภทของห้องสมุดโดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้บริหารงาน  (สุวรรณ  อภัยวงศ์  และคนอื่น ๆ.  2552 : 11-12)
                    5.1.1  วัตถุประสงค์หลักห้องสมุดโดยทั่วไปมี  5  ประการดังนี้
                                                1)  เพื่อการศึกษา  (Education)
                                                2)  เพื่อข่าวสารความรู้  (Information)
                                                3)  เพื่อการค้นคว้าวิจัย  (Research)
                                                4)  เพื่อความจรรโลงใจ  (Inspiration)
                                                5)  เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ  (Recreation)
                 5.1.2  ประเภทของห้องสมุด ซึ่งห้องสมุดนั้นสามารถจำแนกได้  5  ประเภท  ดังนี้
                                   1)  ห้องสมุดโรงเรียน  (School  Library)  เป็นห้องสมุดที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา  และมัธยมศึกษา  ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนการสอน  สร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน และการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองให้กับนักเรียน  เพื่อเป็นพื้นฐานในการใช้ห้องสมุดอื่น ๆ
                                   2)  ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย  (College and University Library)  เป็นห้องสมุดระดับอุดมศึกษา  ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ต่าง ๆ  ที่เปิดสอนตามหลักสูตร  งานวิจัย  โดยให้บริการสารสนเทศให้แก่นิสิต  นักศึกษา  อาจารย์  บุคลากรของสถาบัน  และรวมถึงให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนอีกด้วย
                                  3)  ห้องสมุดเฉพาะ  (Special  Library)  เป็นห้องสมุดที่จัดตั้งโดยหน่วยงานราชการ  บริษัท  สมาคม  ธนาคาร  ที่รวบรวมสารสนเทศเฉพาะในสาขาใดสาขาหนึ่ง  และให้บริการเฉพาะบุคลากรในหน่วยงานของตนเอง  หรือบุคคลผู้สนใจเฉพาะเรื่องนั้น ๆ  เช่น  ห้องสมุดธนาคารแห่งประเทศไทย  เป็นต้น
                                  4)  ห้องสมุดประชาชน  (Public  Library)  เป็นห้องสมุดของท้องถิ่นหรือชุมชน  โดยให้บริการกับบุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดเพศ  เชื้อชาติ  วัย  และศาสนา  และมุ่งเน้นให้ผู้ใช้บริการใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง  ปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่านและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  ซึ่งเนื้อหาทรัพยากรที่มีให้บริการในห้องสมุดประชาชนนั้นจะมีครบทุกสาขาวิชา
                                  5)  หอสมุดแห่งชาติ  (National  Library)  ก่อตั้งเมื่อ  พ.ศ.  2488  ตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรี  เขตดุสิต  กรุงเทพฯ  ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศของชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  และมีสาขาตามต่างจังหวัด เช่น  เชียงใหม่  จันทบุรี  ลาดกระบัง  สิงห์บุรี  สุพรรณบุรี  บุรีรัมย์  ชลบุรี  นครศรีธรรมราช  ตรัง  นครพนม  ภูเก็ต  ลำพูน  กาญจนบุรี  นครราชสีมา  สงขลา  เป็นต้น  ให้บริการการศึกษาค้นคว้าภายในไม่อนุญาตให้ยืมวัสดุออกนอกหอสมุด
                          5.2  ศูนย์สารสนเทศ  (Information  Center)  หมายถึง  แหล่งที่รวบรวมและจัดเก็บสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชา  มีลักษณะคล้ายกับห้องสมุดเฉพาะ  แต่จะมีประสิทธิภาพในการบริการครบถ้วนกว่า  เช่น  มีบริการแปล  บริการยืมระหว่างห้องสมุด  และแลกเปลี่ยนสารสนเทศทั้งภายในและระหว่างประเทศ  เป็นต้น 
                          5.3  ศูนย์ข้อมูล  (Data  Center)  เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล  ซึ่งอยู่ในลักษณะตัวเลข  หรือข้อมูลดิบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ  ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นโดยตรงในการที่จะเผยแพร่และให้บริการ
                          5.4  ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศ  (Information  Analysis  Center)  มีหน้าที่เลือกสรร ประเมิน  จัดเก็บและนำเสนอข้อสารสนเทศเฉพาะวิชา  ซึ่งไม่มีการตีพิมพ์ในที่ใดแต่จะมีประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลและนักวิชาการ
                          5.5  ศูนย์แจกจ่ายสารสนเทศ  (Clearing  House)  เป็นหน่วยงานที่รวบรวม  จัดเก็บ  และให้บริการด้านอ้างอิง  โดยให้บริการในลักษณะของบรรณานุกรม  หรือดรรชนี  เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเอกสารได้อย่างรวดเร็ว
                          5.6  ศูนย์แนะนำแหล่งสารสนเทศ  (Referral  Center)  หมายถึง  หน่วยงานที่ให้บริการตอบคำถามแก่ผู้ใช้  โดยการแนะนำไปยังแหล่งสารสนเทศต่าง ๆ  โดยศูนย์แนะนำแหล่งสารสนเทศนี้จะมีบรรณานุกรมหรือรายชื่อแหล่งสารสนเทศต่างๆ  ที่จัดทำขึ้นและจะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น